
มท.2 ตรวจสถานีสูบน้ำดิบสำแล ก่อนส่งเข้ากระบวนการผลิตน้ำประปาจ่ายให้คนกรุงเทพฯ นนทบุรีและสมุทรปราการ วางแนวทางแก้ปัญหาน้ำประปา “กร่อยและเค็ม” กำชับ กปน. ร่วมหน่วยงานเกี่ยวข้องบริหารจัดการการสูบน้ำดิบ ให้มีน้ำประปาใช้อย่างเพียงพอ ลดปัญหาน้ำกร่อย ผอ.สสน.เผยรุกหนักทั้งที่นนทบุรี สมุทรปราการ “เฉลิมชัย” สั่งกรมชลประทานวัดค่าความเค็มแบบเรียลไทม์ 8 แห่งในแม่น้ำท่าจีน เร่งช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนกล้วยไม้ขาดแคลนน้ำจืด
มท.2 ตรวจสถานีสูบน้ำดิบสำแล แก้ปัญหาน้ำประปากร่อย หลังภัยแล้งส่งผลกระทบต่อแหล่งน้ำดิบที่ใช้ผลิตน้ำประปา โดยเฉพาะช่วงน้ำทะเลหนุนสูง ส่งผลให้น้ำประปาในพื้นที่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา จ่ายให้กับประชาชนในพื้นที่ กรุงเทพมหานคร เขตฝั่งพระนครทั้งหมด เขตบางพลัด และเขตบางกอกน้อย ฝั่งธนบุรี อ.ปากเกร็ด และ อ.เมือง จ.นนทบุรี ส่วน จ.สมุทรปราการ ในพื้นที่ อ.เมือง พระประแดง บางพลี บางบ่อ และ อ.บางเสาธง โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุ เด็กเล็ก ผู้ป่วยโรคไต โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน ควรหลีกเลี่ยงไม่นำมาบริโภค
โดยเมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 4 ก.พ. นายนิพนธ์ บุญญามณี รมช.มหาดไทย พร้อมด้วยนายนิสิต จันทร์สมวงศ์ ประธานกรรมการการประปานครหลวง (กปน.) เดินทางมาที่สถานีสูบน้ำดิบสำแล อ.เมืองปทุมธานี ซึ่งเป็นสถานีสูบน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาส่งเข้ากระบวนการผลิตน้ำประปาเพื่อจ่ายให้พื้นที่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อตรวจเยี่ยมการบริหารจัดการน้ำดิบ และหามาตรการในการแก้ไขปัญหาน้ำดิบของ กปน. โดยมีนายกวี อารีกุล ผู้ว่าการ กปน. และคณะผู้บริหาร กปน.ให้การต้อนรับ
นายนิพนธ์กล่าวว่า เนื่องจากสถานการณ์ภัยแล้งในปีนี้ที่ทำให้ปริมาณน้ำในเขื่อนน้อยลง อีกทั้งสถานการณ์น้ำทะเลที่หนุนสูงขึ้น ส่งผลให้น้ำประปาในบางช่วงเวลาในพื้นที่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยามีรสชาติเปลี่ยนแปลงไป ฝากให้ กปน.เร่งประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งในส่วนของสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ กรมชลประทาน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และองค์กรปกครองท้องถิ่นในพื้นที่ให้บริหารจัดการให้ประชาชนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร นนทบุรี และสมุทรปราการ มีน้ำใช้เพื่อการอุปโภคบริโภคอย่างเพียงพอในหน้าแล้งนี้ สำหรับแผนระยะยาวในอนาคตขอให้ กปน.เร่งรัดดำเนินงานอย่างจริงจัง เพื่อแก้ปัญหาคุณภาพน้ำประปาที่ได้รับผลกระทบจากภาวะน้ำทะเลหนุนสูงอย่างยั่งยืน และให้เตรียมรับมือสถานการณ์ภัยแล้งในช่วง 2-3 เดือนก่อนเข้าฤดูฝนนี้ด้วย
นายนิสิต จันทร์สมวงศ์ ประธานกรรมการ กปน. กล่าวว่า กปน.มีการบริหารจัดการการสูบน้ำดิบจากแม่น้ำเจ้าพระยาโดยสูบน้ำที่มีลิ่มความเค็มสูงเข้ามาในคลองประปาให้น้อยที่สุด ซึ่งความสามารถในการหลบเลี่ยงทำได้สูงสุดเพียง 4 ชั่วโมงเท่านั้น เพื่อผลิตน้ำประปาให้เพียงพอต่อความต้องการ ที่ผ่านมา กปน.ร่วมมือกับกรมชลประทาน และสำนักการระบายน้ำกรุงเทพมหานคร ในการร่วมปฏิบัติการกระแทกน้ำ (Water Hammer of Chao Phraya River Flow Operation) เพื่อผลักดันน้ำเค็มให้ไกลจากบริเวณสถานีสูบน้ำดิบสำแล ช่วยบรรเทาสถานการณ์น้ำทะเลหนุน และลดผลกระทบที่จะเกิดกับพี่น้องประชาชน
ด้านนายคมกฤช ทินกร ณ อยุธยา รองผู้ว่าการ กปน. ในฐานะโฆษก กปน. เปิดเผยว่า ขณะนี้ประชาชนในพื้นที่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา จะรับรู้รสชาติน้ำประปาที่เปลี่ยนไป ซึ่งเกิดจากค่าความเค็มในรูปคลอไรด์เกิน 250 มิลลิกรัมต่อลิตร หรือโซเดียมเกิน 200 มิลลิกรัมต่อลิตร ซึ่งสูงกว่าคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก ขอแนะนำแนวทางการใช้น้ำประปาในช่วงภัยแล้งสำหรับประชาชน ดังนี้ 1.ผู้ที่มีสุขภาพปกติ สามารถบริโภคน้ำประปาได้ โดยไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ การบริโภคน้ำประปา 2 ลิตร หรือ 8 แก้วต่อวัน ถือว่าไม่ได้รับโซเดียมมากเกินจนเป็นอันตรายต่อร่างกาย 2.กลุ่มเสี่ยงที่ควรหลีกเลี่ยงการบริโภค ได้แก่ ผู้ที่เป็นโรคไต โรคหัวใจ โรคความดันสูง โรคเบาหวาน ผู้สูงอายุ เด็กเล็ก และสัตว์เลี้ยงขนาดเล็ก
นอกจากนี้ การนำน้ำประปาไปต้มไม่ได้ช่วยให้น้ำประปาหายเค็ม กลับทำให้การเค็มหรือความกร่อยเพิ่มมากขึ้น เพราะสิ่งที่ระเหยไปคือน้ำ แต่ตัวเกลือไม่ได้ระเหยไปด้วย การกรองน้ำด้วยระบบ RO (Reverse Osmosis) เท่านั้น ที่สามารถแก้ไขเรื่องความเค็มของน้ำประปาได้ หากประชาชนไม่มีเครื่องกรองระบบ RO ขอให้ติดตามข้อมูลสถานการณ์น้ำ หากช่วงไหนน้ำทะเลหนุนสูงขอให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยงหลีกเลี่ยงการบริโภคน้ำประปา และสำรองน้ำในวันที่น้ำประปารสชาติปกติไว้ใช้บริโภค
นายสุทัศน์ วีรสกุล ผอ.สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (สสน.) เปิดเผยว่า สาเหตุของน้ำประปาเค็มมาจากน้ำเค็มรุกตัวเข้าสู่แม่น้ำเจ้าพระยาสูงในช่วงเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา โดยมีความเค็มสูงมากจนสูงที่สุดเท่าที่มีการตรวจวัดมา ตรงบริเวณสถานีสูบน้ำสำแล ค่าความเค็มค่ำวันที่ 30 ม.ค. สูงถึง 2.53 กรัมต่อลิตร เกินมาตรฐานในการผลิตน้ำประปาต้องไม่เกิน 0.5 กรัมต่อลิตร เกินมาตรฐานน้ำใช้เพื่อการเกษตร 2.0 กรัมต่อลิตร ช่วงนี้น้ำเค็มได้เข้าสู่คลองสาขาของ จ.นนทบุรี กรุงเทพมหานครฝั่งตะวันตก และสมุทรปราการทำให้ต้นไม้และพืชผลทางการเกษตรเริ่มได้รับความเสียหายจำนวนมาก และมีความกังวลว่าในช่วงเดือน ก.พ.-มี.ค.นี้ ความเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยาอาจรุกตัวหนักต่อเนื่อง
ขณะเดียวกัน นายสัญญา แสงพุ่มพงษ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ สั่งการให้กรมชลประทานเฝ้าระวังคุณภาพน้ำเพื่ออุปโภค-บริโภคบริเวณแม่น้ำท่าจีนเป็นรายชั่วโมง ภายใต้การบริหารจัดการน้ำฤดูแล้งเพื่อแก้ปัญหาความเค็ม โดยเฉพาะบริเวณคลองจินดา หลังจากเมื่อวันที่ 2 ก.พ. ค่าความเค็มพุ่งสูงถึง 2.29 กรัมต่อลิตร สูงกว่าเกณฑ์เฝ้าระวังที่ 0.25 กรัมต่อลิตร โดย รมว.เกษตรและสหกรณ์สั่งให้ระบายน้ำเพื่อเจือจางความเค็มให้มีการติดตั้งเครื่องวัดความเค็มแบบเรียลไทม์ 8 แห่งในแม่น้ำท่าจีน และสั่งกรมชลประทานร่วมประชุมเกษตรกรชาวสวนกล้วยไม้ที่ได้รับผลกระทบ จากค่าความเค็มสูงเกินมาตรฐาน ส่งผลให้ไม่มีน้ำจืดรดกล้วยไม้ โดยให้เกษตรกรสามารถเปิดรับน้ำและสูบน้ำจากแม่น้ำท่าจีนได้เมื่อค่าความเค็มน้อยกว่า 0.75 กรัมต่อลิตร และส่งรถบรรทุกน้ำจืดช่วยเหลือชาวสวนกล้วยไม้ที่ขาดแคลนน้ำจืด