ขสมก.ประกาศอีก 9 พนักงานติดเชื้อโควิด พบเป็นกระเป๋า-คนขับอย่างละ 4 คน พนักงานประจำอู่ 1 คน ชี้ติดจากคนใกล้ชิดแถบทั้งหมด
วันที่ 1 พฤษภาคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 1 พ.ค. 2564 องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ออกประกาศแจ้งถึงการพบผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 อีก 9 ราย จำแนกเป็นพนักงานขับรถ 4 ราย พนักงานเก็บค่าโดยสาร 4 ราย และพนักงานธุรการประจำอู่รถเมล์ 1 ราย แต่ละคนมีรายละเอียด ดังนี้
พบติดจากเพื่อนร่วมงาน
พนักงานขับรถ 4 ราย ประกอบด้วย 1.พนักงานขับรถโดยสารธรรมดา สาย 145 สมุทรปราการ – หมอชิต 2 เพศชาย อายุ 56 ปี ปัจจุบันให้พนักงานดังกล่าว ปฏิบัติหน้าที่ช่วยงานธุรการ ณ อู่แพรกษา (บ่อดิน) เพราะว่าพนักงานเป็นโรคเส้นเลือดสมองตีบ ได้เข้ารับการตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19) ณ โรงพยาบาลรามาธิบดีจักรีนฤบดินทร์ เมื่อวันที่ 30 เม.ย. 2564
โดยทำงานในห้องทำงานเดียวกับพนักงานเก็บค่าโดยสารรถธรรมดา สาย 145 เพศหญิง อายุ 52 ปี (ปัจจุบันองค์การได้ให้พนักงานปฏิบัติหน้าที่ช่วยงานธุรการ เนื่องจากเป็นโรคไตวายระยะสุดท้าย) ซึ่งเป็นผู้ติดเชื้อตามที่องค์การ
ได้ออกประกาศ เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2564
คนขับสาย 4 ติดจากสามีน้องสาว
2.พนักงานขับรถโดยสารปรับอากาศ สาย 4 คลองเตย – ห้วยขวาง เพศชาย อายุ 46 ปี (ปฏิบัติหน้าที่ขับรถโดยสารช่วงกะบ่าย) ได้เข้ารับการตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19) ณ โรงพยาบาลประชาธิปัตย์ จ.ปทุมธานี และเข้ารับการรักษาตัวโรงพยาบาลสามโคก จ.ปทุมธานี เมื่อวันที่ 29 เม.ย. 2564
โดยได้รับทราบว่าสามีของน้องสาว ซึ่งพักอาศัยอยู่ในบ้านหลังเดียวกับพนักงานเป็นผู้ติดเชื้อ จึงได้ไปตรวจพร้อมครอบครัว ปรากฏว่าพนักงานมีผลเป็นลบ แต่บุตรชายมีผลเป็นบวก และตัวพนักงานเริ่มมีอาการไอ-ไข้ จึงได้ตรวจซ้ำอีกครั้งจึงพบว่าติดเชื้อ และได้เข้ารับการรักษาตัวตามข้างต้น
3. พนักงานขับรถโดยสารธรรมดา สาย 7 เพศชาย อายุ 42 ปี ได้เข้ารับการตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19) ณ โรงพยาบาลราชพิพัฒน์ โดยพนักงานทราบข่าวว่าเพื่อนบ้าน ที่มารดาของภรรยาเคยสนทนาด้วยกันอยู่เป็นประจำ เป็นผู้ติดเชื้อ จึงได้เดินทางไปตรวจและพบเชื้อในที่สุด
และ 4.พนักงานขับรถโดยสารธรรมดา สาย 7 เพศชาย อายุ 59 ปี ได้เข้ารับการตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19) ณ โรงพยาบาลราชพิพัฒน์ โดยพนักงาน
ทราบข่าวว่า เพื่อนบ้านที่ภรรยาเคยสนทนาด้วยกันอยู่เป็นประจำ เป็นผู้ติดเชื้อ จึงเดินทางไปตรวจและพบอาการติดเชื้อ จึงเข้าพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลราชพิพัฒน์ต่อไป
4 กระเป๋าติดคนใกล้ชิดล้วน ๆ
พนักงานเก็บค่าโดยสาร 4 ราย ประกอบด้วย 1.พนักงานเก็บค่าโดยสารรถธรรมดา สาย 7 คลองขวาง-หัวลำโพง เพศหญิง อายุ 35 ปี เข้ารับการตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19) ณ โรงพยาบาลราชพิพัฒน์ โดยพนักงานทราบข่าวว่าเพื่อนบ้าน ที่มารดาเคยสนทนาด้วยกันอยู่เป็นประจำ เป็นผู้ติดเชื้อ และพบว่ามีการติดเชื้อ จึงได้รับไปรักษาต่อ
2.พนักงานเก็บค่าโดยสารรถธรรมดา สาย 7 เพศหญิง อายุ 39 ปี ได้เข้ารับการตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19) ณ โรงพยาบาลราชพิพัฒน์ โดยพนักงานทราบว่า เมื่อวันที่ 25 เม.ย. 2564 ทราบข่าวว่าเพื่อนบ้าน ที่มารดาเคยสนทนาด้วยกันอยู่เป็นประจำเป็นผู้ติดเชื้อ จึงเข้าไปตรวจหาเชื้อที่โรงพยาบาลราชพิพัฒน์และพบว่าติดเชื้อจึงเข้ารักษาตัวต่อ
3.พนักงานเก็บค่าโดยสารรถธรรมดา สาย 11 อู่เมกาบางนา – มาบุญครอง เพศหญิง อายุ 49 ปี ได้เข้ารับการตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19) ณ โรงพยาบาลเวชการุณรัศมิ์ แชะเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลสนามบางกอกอารีน่า หนองจอก เมื่อวันที่ 30 เม.ย. 2564 โดยติดเชื้อมาจากมารดา
ไปสมุทรปราการด้วย
4.พนักงานเก็บค่าโดยสารรถธรรมดา สาย 13 คลองเตย – ห้วยขวาง เพศชาย อายุ 46 ปี (ปฏิบัติหน้าที่เก็บค่าโดยสารช่วงกะบ่าย) ได้เข้ารับการตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19) ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ถูกนำตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลสนาม โรงแรมบางกอกเซ็นเตอร์ กรุงเทพ โดยติดเชื้อจาก
พนักงานขับรถโดยสารปรับอากาศ สาย 4 เพศชาย อายุ 46 ปี และมีประวัติเดินทางไปหมู่บ้านพันท้ายนรสิงห์ จ.สมุทรสาคร ด้วยรถยนต์ส่วนบุคคล
และพนักงานธุรการ ระดับ 2 งานบริหารงานบุคคล เขตการเดินรถที่ 6 เพศชาย อายุ 56 ปี ซึ่งปฏิบัติหน้าที่อยู่ที่เขตการเดินรถที่ 6 อู่บรมราชชนนี ไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่บนรถโดยสารแต่อย่างใด ได้เข้ารับการตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19) ณ ศูนย์กีฬาเวชศาสตร์สนามกีฬาไทย – ญี่ปุ่น ดินแดง โดยพบว่าพนักงานทำงานในห้องทำงานเดียวกับเจ้าหน้าที่งานบริหารงานบุคคล เพศชาย อายุ 53 ปี ที่เป็นผู้ติดเชื้อตามที่ได้ออกประกาศ เมื่อวันที่ 26 เม.ย. 2564 และได้รับการรับการรักษาที่โรงพยาบาลสนาม โรงแรมรอยัล คิงส์ จ.สมุทรปราการ
ยันรถทุกคันทำความสะอาด
ทั้งนี้ เมื่อพนักงานนำรถกลับเข้าอู่ในแต่ละรอบ จะมีการฉีดพ่นทำความสะอาดภายใน รถโดยสารทันทีด้วยผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อโรคที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ 70 % จึงมั่นใจได้ว่ารถโดยสารขององค์การมีความสะอาด ปลอดภัยจากเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19)
นอกจากนี้ องค์การได้พักการใช้งานรถโดยสารธรรมดาสายต่างๆ ที่พนักงานผู้ติดเชื้อได้ปฏิบัติหน้าที่ เป็นระยะเวลา 3 วัน เพื่อทำการฉีดพ่น ทำความสะอาดฆ่าเชื้อโรคภายในรถ รวมถึง อู่จอดรถและท่าปล่อยรถโดยสาร