การระบาดของโควิด-19 นั้นได้ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปทั่วโลก และยังเป็นตัวกระตุ้นให้การใช้ดิจิทัลมีบทบาทสำคัญมากขึ้น ประกอบกับประเทศไทยเองก็กำลังผลักดันตัวเองเพื่อก้าวสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะ (Smart Metro) ดังนั้นเพื่อตอบรับกับการเปลี่ยนแปลง ความต้องการของผู้บริโภคและการตอบโจทย์ความท้าทายในโลกยุคปัจจุบัน การไฟฟ้านครหลวง หรือ กฟน. (MEA) ในฐานะองค์กรที่ให้บริการด้านไฟฟ้า จึงมุ่งสู่การปรับเปลี่ยนระบบองค์กรให้เป็นดิจิทัลเซอร์วิส (Digital Service) หรือการใช้เทคโนโลยีมาช่วยบริหารจัดการ เพื่อการให้บริการที่สะดวก รวดเร็วทันใจ
ดังนั้นจึงต้องวางยุทธศาสตร์สู่สมาร์ท ยูทิลิตี้ (Smart Utility) พัฒนาองค์กรให้เป็นเซอร์วิส อินโนเวชั่น (Service Innovation) ชูแนวคิดขับเคลื่อนองค์กรพร้อมรับการเปลี่ยนแปลง มุ่งเน้นพลิกบทบาท MEA สู่ดิจิทัลเต็มรูปแบบ ซึ่ง วิลาศ เฉลยสัตย์ ผู้ว่าการ MEA เปิดเผยว่า เมื่อมีสถานการณ์ไม่คาดฝัน โดยเฉพาะการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่กลายเป็นตัวเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ทำให้การปรับตัวของ MEA ต้องเร่งดำเนินการให้รวดเร็วยิ่งขึ้น และปรับเปลี่ยนไปตามวิถีชีวิตใหม่ หรือ New Normal และ Next Normal ของผู้บริโภค ปัจจุบัน สังคมได้เปลี่ยนไปสู่สังคมไร้การสัมผัส หรือ Touchless Society การทำธุรกิจจากที่บ้าน การใส่ใจสุขภาพมากขึ้น ทำให้ MEA ต้องปรับเปลี่ยนเพื่อรองรับกับพลวัตเหล่านั้น
“เรื่องแรกคือ บริการของ MEA จะมุ่งสู่ดิจิทัล เพื่อตอบสนอง สู่สังคมไร้การสัมผัส โดยจะพิจารณาจากสัดส่วนที่ผู้ใช้ไฟฟ้ากลุ่มใหญ่ๆ ซึ่งเป็นกลุ่มบ้าน ที่อยู่อาศัย ที่จะต้องไปจัดการดูแลเป็นอันดับต้นๆ ดังนั้นจึงมีกระบวนการปรับเปลี่ยนการบริการ และปรับเปลี่ยนระบบไฟฟ้า เพื่อตอบสนองพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป” วิลาศกล่าว
วิลาศ กล่าวว่า การเดินหน้าสู่ความท้าทายครั้งใหม่ คือ ยุคดิจิทัล ดิสรัปชัน (Digital Disruption) และนิวนอร์มอลนั้น MEA ได้กำหนดแนวทางไว้แล้ว ตามกลยุทธ์ในปี 2565-2580 จะต่อยอดมาจากวิสัยทัศน์ในการเป็นพลังงานเพื่อชีวิตของเมืองมหานคร เพราะนั่นหมายถึงการพัฒนาที่ไม่หยุดยั้งขององค์กร
นอกจากนี้ยังจัดตั้งบริษัทในเครือที่ชื่อว่า MEAei หรือ MEA Smart Energy Solution ที่จะเริ่มดำเนินการในปี 2565 โดยโฟกัสในเรื่องของสมาร์ทเอนเนอร์ยี ให้บริการครบวงจรด้านพลังงานอัจฉริยะในพื้นที่ลูกค้า อย่างไรก็ตามแผนการดำเนินธุรกิจระยะ 5 ปีแรกของบริษัท MEA จะเป็นธุรกิจเกี่ยวกับการบริหารจัดการระบบพลังงานแบบครบวงจรในพื้นที่ลูกค้า โดยแบ่งเป็น บริการด้านพัฒนาระบบพลังงานอัจฉริยะแบบครบวงจร ได้แก่ การเป็นที่ปรึกษา ออกแบบ ติดตั้ง ลงทุน ไปจนถึงการบริหารจัดการระบบบริหารจัดการพลังงานอัจฉริยะ เช่น ให้บริการเกี่ยวกับระบบเครือข่ายอัจฉริยะ, ระบบการจัดการพลังงานในพื้นที่, มิเตอร์อัจฉริยะ, ระบบจัดการการจ่ายไฟฟ้า เป็นต้น ซึ่งจะทำให้ลูกค้าสามารถประหยัดการใช้พลังงานภายในพื้นที่ เพราะมีการวิเคราะห์ข้อมูลการใช้พลังงานและเลือกแหล่งจ่ายพลังงานให้เหมาะสมในแต่ละช่วงเวลาได้ รวมทั้งลูกค้ายังสามารถดูข้อมูลการใช้ไฟฟ้าของตนเองได้แบบทันที (Real time) ซึ่งจะทำให้ทราบปริมาณการใช้/จุดรั่วไหล และสามารถควบคุมและปรับพฤติกรรมการใช้พลังงานให้เหมาะสมและเกิดประโยชน์สูงสุด
โดยในปี 2565 นั้นจะเดินหน้าพัฒนาสู่สมาร์ทเอนเนอร์ยี (Smart Energy) เต็มรูปแบบ โดยให้บริการทุกอย่างผ่านระบบดิจิทัลเพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชน จากเดิมที่มีบริการเพียงบางอย่างเท่านั้น และในปี 2566-2570 จะก้าวสู่การเป็นอินโนเวทีฟ เฟิร์ม (Innovative Firm) คือ ขับเคลื่อนองค์กรด้วยนวัตกรรม ซึ่งตอนนี้กำลังสร้างอินโนเวชั่น ฮับ (Innovation Hub) สำหรับรวบรวมนวัตกรรมที่พัฒนาขึ้นมาใช้ภายในองค์กรเองเพื่อเตรียมส่งต่อสู่สังคมภายนอก และปี 2571-2580 จะก้าวสู่ องค์กรที่มีความยั่งยืนในเรื่องของเศรษฐกิจ ผลประกอบการต้องเลี้ยงตัวเองได้ และสามารถเติบโตไปข้างหน้าได้ ควบคู่กับการดูแลสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม
ด้าน จาตุรงค์ สุริยาศศิน รองผู้ว่าการ MEA กล่าวถึงความคืบหน้าการนำสายไฟฟ้าลงดินว่า กฟน.มีแผนดำเนินโครงการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดินในพื้นที่ที่ กฟน.ดูแลและรับผิดชอบระบบจำหน่ายพลังไฟฟ้า ครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพมหานคร จังหวัดนนทบุรี และสมุทรปราการ ระยะทางรวม 236.1 กิโลเมตร มีกรอบระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่ปี 2527-2567 ล่าสุดได้มีการดำเนินการไปแล้ว 56 กิโลเมตร หรือ 25% ของเป้าหมายที่ตั้งไว้ โดยเป้าหมายการดำเนินงานนั้นจะเริ่มที่ถนนสายหลักที่เป็นถนนด้านเศรษฐกิจ มีการใช้ไฟมาก เป็นสถานที่ท่องเที่ยว สถานที่สำคัญต่างๆ จะเป็นอันดับแรกที่จะนำสายไฟฟ้าลงดิน นอกจากนี้ตามแนวก่อสร้างทางรถไฟฟ้าก็จะนำสายไฟฟ้าลงดินทั้งหมด
“กฟน.ทำธุรกิจหลักคือการขายไฟฟ้า และธุรกิจเกี่ยวเนื่องที่ไม่ใช่ไฟฟ้า ไม่ว่าจะเป็นการสร้างสถานีไฟฟ้า การเดินไฟฟ้าหลังมิเตอร์ การให้บริการสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า การติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป อย่างไรก็ตามในมุมมองของ กฟน.นั้น เห็นว่าธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้าในช่วงปี 2565 ถือว่าเป็นช่วงเวลาที่ก้าวกระโดด เพราะเทรนด์การใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่หรือพลังงานสะอาดมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นการใช้รถยนต์ไฟฟ้า หรืออีวี จึงมีความต้องการมากขึ้น” จาตุรงค์ กล่าว
จาตุรงค์ กล่าวว่า MEA ได้ดำเนินโครงการ “มหานครสดใส ชาร์จไฟกับ กฟน.” ติดตั้งหัวชาร์จ MEA EV จำนวน 100 หัวชาร์จในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร นนทบุรี และสมุทรปราการ โดย MEA มีแผนการดำเนินการสำรวจและดำเนินการติดตั้งในตำแหน่งที่เหมาะสมและประชาชนสามารถเข้าใช้บริการได้อย่างสะดวก ปัจจุบัน MEA ได้ดำเนินการติดตั้งหัวชาร์จ MEA EV จำนวน 19 หัวชาร์จ และจะดำเนินการติดตั้งหัวชาร์จ MEA EV แล้วเสร็จครบทุกจุดในเดือนธันวาคม 2565 นี้
ทั้งนี้ MEA ในฐานะหน่วยงานที่ขับเคลื่อนพลังงานเพื่อวิถีชีวิตเมืองมหานคร พร้อมขับเคลื่อนตามแผนงานด้านพลังงานของรัฐบาลในการส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศไทย และพลังงานทดแทนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งได้ดำเนินนโยบายในด้านรถยนต์ไฟฟ้ามาอย่างต่อเนื่อง ในการเตรียมความพร้อมรองรับการใช้รถยนต์ไฟฟ้าที่จะมาทดแทนรถยนต์น้ำมันต่อไปในอนาคต ตลอดจนการติดตั้งและพัฒนาสถานีอัดประจุไฟฟ้าของ MEA พร้อมเชื่อมต่อ Platform ระบบบริหารจัดการเครื่องอัดประจุไฟฟ้าอัจฉริยะ วิเคราะห์ข้อมูลการชาร์จ และเชื่อมต่อกับ MEA EV Application รองรับการใช้งานและอำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้าอย่างครบวงจร.
บริการด้านบริหารจัดการพลังงานทดแทน ได้แก่ ให้บริการเป็นที่ปรึกษา ออกแบบ ติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา โดยจะส่งมอบระบบและคิดค่าบริการแบบรับเหมากับลูกค้า และบริการให้เช่าระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา โดย MEA เป็นผู้ลงทุนระบบพร้อมติดตั้งแผงโซลาร์และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องให้แก่เจ้าของอาคารสถานที่ และอัตราค่าเช่าจะคำนวณจากปริมาณไฟฟ้าที่ผลิตได้จากระบบผลิตฯ คูณกับอัตราค่าไฟฟ้า ซึ่งจะถูกกว่าอัตราค่าไฟฟ้าปกติประมาณ 10%