03 มิ.ย. 2565 | 04:24:56
นางกนกนันท์ วีริยานันท์ หัวหน้าสำนักงานประกันสังคมจังหวัดสมุทรปราการ สาขาพระประแดง กล่าวว่า ผู้ประกันตนที่จะได้รับสิทธิประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพ คือผู้ประกันตนที่อายุครบ 55 ปี และความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง ซึ่งจะได้รับเป็นเงินบำนาญชราภาพรายเดือนหรือเงินบำเหน็จเป็นเงินก้อน ก็ต้องดูว่าตั้งแต่ส่งเงินสมทบครั้งแรกจนอายุครบ 55 ปี ส่งเงินสมทบมาแล้วกี่เดือน
สำหรับผู้ประกันตนมาตรา 33 หากส่งเงินสมทบ 1-179 เดือน หรือไม่เกิน 15 ปี จะได้รับเป็นก้อนหรือเงินบำเหน็จชราภาพ
ส่วนผู้ประกันตนที่ส่งเงินสมทบตั้งแต่ 180 เดือนหรือ 15 ปีขึ้นไป จะได้รับเป็นเงินบำนาญชราภาพรายเดือนรับไปตลอดชีวิต
โดยคำนวนเงินบำนาญชราภาพได้ที่สำนักงานประกันสังคมจ่าย 20% ของค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้ายที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณ ซึ่งแต่ละคนจะได้รับแตกต่างกันขึ้นอยู่กับเงินเดือนเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย เช่น
– เงินเดือนเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย 10,000 บาท จะได้รับเงินบำนาญชราภาพ 2,000 บาท
– เงินเดือน 12,000 บาท รับบำนาญชราภาพ 2,400 บาท
– เงินเดือน 15,000 บาท รับบำนาญชราภาพ 3,000 บาท
ส่วนผู้ประกันตนมาตรา 39 จะคำนวณจากฐานเงินเดือนสูงสุด 4,800 บาท หากส่งเงินสมทบครบ 180 เดือน จะได้รับบำนาญชราภาพ 960 บาทต่อเดือนบาทไปตลอดชีวิต
3 หากผู้ประกันตนมาตรา 33 ส่งเงินสมทบครบ 180 เดือน แต่ยังเป็นสมาชิกคือยังทำงานส่งเงินสมทบต่อเนื่อง รวมถึงผู้ประกันตนมาตรา 39 ที่ยังคงส่งเงินสมทบต่อไปอีก ในทุกๆ 12 เดือน สำนักงานประกันสังคมจะบวกเพิ่มอีก 1.50% ทำให้ผู้ประกันตนได้รับเงินบำนาญชราภาพเพิ่มขึ้น
ส่วนการปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์กรณีเงินบำนาญชราภาพกรณีผู้ประกันตนเสียชีวิต นางกนกนันท์ กล่าวว่า สำนักงานประกันสังคมจ่ายเงินบำนาญชราภาพรายเดือน เริ่มตั้งแต่ปี 2557 จนถึงปัจจุบันเป็นเวลา 9 ปี โดยผู้ประกันตนที่ส่งเงินสมทบอัตราสูงสุด 15,000 บาท ปัจจุบันได้รับเงินบำนาญชราภาพรายเดือนอยู่ที่ 4,800 บาทไปตลอดชีวิต
ส่วนการปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์กรณีเงินบำนาญชราภาพ ก็คือการประกันบำนาญชราภาพกรณีผู้ประกันตนเสียชีวิตก่อนรับเงินบำนาญครบ 60 เดือนหรือ 5 ปี ซึ่งเป็นการเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้กับทายาทผู้มีสิทธิ์ตกเป็นเงินมรดกได้ โดยปรับสูตรการคำนวณใหม่ นำ 60 เดือนเป็นตัวตั้งลบด้วยเดือนที่ผู้ประกันตนรับเงินบำนาญไปแล้ว เช่น
หากรับเงินบำนาญชราภาพรายเดือนอยู่ที่ 4,800 บาท รับไปแล้ว 10 เดือนและเสียชีวิตลง เดิมทายาทจะได้รับเงินบำเหน็จ 10 เท่าคูณด้วยเงินสมทบที่รับเดือนสุดท้าย เท่ากับทายาทจะได้รับเงิน 48,000 บาท แต่กฎหมายใหม่จะได้รับเพิ่มขึ้นเป็น 240,000 บาท ซึ่งกฎหมายมีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่ 29 เมษายน 2565 เป็นต้นไป
ส่วนทายาทผู้มีสิทธิ์ ได้แก่ บุตร,คู่สมรส และบิดามารดา สำหรับคู่สมรสต้องมีทะเบียนสมรสและเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมาย ส่วนกรณีผู้ประกันตนที่สถานะโสด ไม่มีบุตร ไม่มีคู่สมรส และบิดามารดาเสียชีวิต สำนักงานประกันสังคมจะพิจารณาไล่เรียงไปตั้งแต่มีพี่น้องร่วมบิดามารดาหรือไม่ ถ้าไม่มีมีพี่น้องร่วมมารดาหรือไม่ หรือถ้าไม่มีมีพี่น้องร่วมบิดาหรือไม่ หรือถ้าไม่มีมีลุงป้าน้าอาหรือไม่ หรือถ้าไม่มีต้องไปดูถึงปู่ย่าตายาย
ผู้ประกันตนสามารถเขียนพินัยกรรมได้ว่าจะยกเงินบำเหน็จหรือบำนาญชราภาพให้ผู้ใด โดยสำนักงานประกันสังคมไม่มีแบบฟอร์มให้ แต่สามารถทำขึ้นมาได้ โดยให้มีข้อความที่ครบถ้วน เช่น เขียนแบบพินัยกรรม
Share this: