ศบค.พบผู้ติดเชื้อใหม่ 2,671 ราย ดับ 23 ตรวจมาตรการแคมป์คนงานไม่ผ่านเกณฑ์เกือบร้อยแห่ง จี้นายจ้างปรับปรุง “ทวีศิลป์” น้อมรับคำวิจารณ์ แต่ยันไม่ได้ปกปิดข้อมูล เฝ้าระวังพื้นที่ กทม. 63 แห่ง พบคลัสเตอร์ใหม่ 5 แห่งใน 4 เขต โฆษกกทม.เผยคลัสเตอร์วงเวียนใหญ่ติดเชื้อแค่ 14 คน สั่งปิด 3 ตลาด ยันคุมได้ กรมอนามัยยกระดับ 4 มาตรการหลักคุมโรงงาน ตรังพบ 3 คลัสเตอร์สำคัญติดเชื้อใหม่ 52 ราย
ที่ทำเนียบรัฐบาล วันที่ 6 มิถุนายน นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงสถานการณ์ประจำวันว่า มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 2,671 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 1,984 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 1,095 ราย มาจากการค้นหาเชิงรุก 889 ราย เป็นผู้ติดเชื้อในเรือนจำ 604 ราย เป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 83 ราย ทำให้มียอดผู้ติดเชื้อสะสม 177,467 ราย หายป่วยเพิ่มเติม 2,242 ราย หายป่วยสะสม 126,517 ราย อยู่ระหว่างรักษา 49,714 ราย อาการหนัก 1,209 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 361 ราย มีรายงานผู้เสียชีวิตเพิ่มเติม 23 ราย เป็นชาย 12 ราย หญิง 11 ราย อยู่ใน กทม. 13 ราย, สมุทรปราการ 4 ราย, ฉะเชิงเทรา นครราชสีมา นครศรีธรรมราช สระบุรี สระแก้ว ระยอง จังหวัดละ 1 ราย ทำให้มีผู้เสียชีวิตสะสม 1,236 ราย ขณะที่สถานการณ์โลก มีผู้ติดเชื้อสะสม 173,717,565 ราย เสียชีวิตสะสม 3,736,092 ราย
นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า ในส่วนของ 5 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่สูงสุด ได้แก่ กทม. 675 ราย, สมุทรสาคร 288 ราย, เพชรบุรี 196 ราย, นนทบุรี 163 ราย, สมุทรปราการ 124 ราย โดยพบคลัสเตอร์ใหม่ที่เขตอุตสาหกรรมฟอกหนัง อ.เมืองฯ จ.สมุทรปราการ โดยมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 16 ราย อย่างไรก็ตาม กรมควบคุมโรคได้นำเสนอภาพการพบผู้ติดเชื้อในต่างจังหวัด พบว่ามีความเชื่อมโยงกับพื้นที่ที่มีการติดเชื้ออยู่แล้ว หลายจังหวัดที่มีรายงานผู้ติดเชื้อราย ใหม่ พบว่าเชื่อมโยงกับ กทม. ดังนั้น การควบคุมโรคจึงไม่ได้อยู่ที่พื้นที่อย่างเดียว แต่มาจากบุคคลที่มีการเคลื่อนย้าย การที่เราจะมีมาตรการอะไรจึงส่งผลต่ออีกด้านหนึ่งเสมอ ฉะนั้น มาตรการที่เกิดขึ้นในแห่งหนึ่ง ย่อมมีผล กระทบต่อคน สังคม และจังหวัดอื่นตามมา
โฆษก ศบค.กล่าวว่า สถานการณ์ในกทม. มีพื้นที่ต้องเฝ้าระวัง 63 แห่ง พบใหม่ 5 แห่งใน 4 เขต ได้แก่ ตลาดเทวราช หรือตลาดเทเวศร์ เขตดุสิต ชุมชนเพชรบุรีซอย 10 เขตราชเทวี แคมป์ก่อสร้างบริษัท ซิโน-ไทยฯ เขตลาดพร้าว ชุมชนมาชิม และชุมชนเฉลิมอนุสรณ์ เขตวัฒนา นอกจากนี้ กทม.รายงานว่า ขณะนี้มีการตรวจตลาดและประเมินสุขาภิบาลของตลาดต่างๆ ที่ขึ้นทะเบียนกับ กทม.ไว้แล้ว 102 แห่ง ขณะที่ในส่วนของแคมป์คนงานก่อสร้าง 409 แห่ง ขณะนี้ตรวจไปแล้ว 367 แห่ง พบว่า ผ่านเกณฑ์ 270 แห่ง ไม่ผ่านเกณฑ์ 97 แห่ง ซึ่งในส่วนของมาตรการนายจ้าง จะต้องมีการปรับปรุงในเรื่องการวางแผนเตรียมความพร้อมเมื่อพบผู้ป่วย ปรับปรุงเรื่อง ข้อมูลข่าวสารที่ต้องสื่อสารกับลูกจ้าง โดยเฉพาะเรื่องภาษา ปรับปรุงที่นั่งรับประทานอาหารที่ไม่มีการจัดเตรียมไว้ให้ ทำให้แรงงานต้องไปนั่งจับกลุ่มกัน ปรับปรุงห้องน้ำที่ยังไม่มีความเหมาะสม รวมถึงการป้องกันการรวมตัวกันทำกิจกรรมสังสรรค์ดื่มกินหลังเลิกงาน
นพ.ทวีศิลป์กล่าวตอนท้ายว่า โควิด-19 อยู่กับเรามาปีกว่า เรายึดหลักและรับนโยบายมาจากนายกรัฐมนตรีในฐานะ ผอ.ศบค. บางครั้งชุดข้อมูลต่างๆ ไม่มีความชัดเจน แต่ไม่ได้มีเจตนาปกปิดอะไร และขอให้เครดิตกับผู้ทำงานเบื้องหลังที่ทำกัน 24 ชั่วโมงไม่ได้หยุดเพื่อให้ได้ข้อมูลมารายงานแก่ประชาชน ส่วนที่มีอะไรไม่ถูกต้อง ตนขอน้อมรับไว้ข้อมูลส่วนใหญ่ 99% ไม่มีเจตนาจะปกปิด แต่บางครั้งมีความไม่เรียบร้อยของข้อมูล ซึ่ง ผอ.ศบค.เน้นว่าให้ยึดความถูกต้อง ทันการณ์ ทันเวลา โดยเอาความถูกต้องขึ้นก่อน และถ้าทันการณ์และทันเวลาได้จะดี ระบบข้อมูลอาจจะช้าหน่อย แต่ความเร่งรีบเราต้องบอกประชาชนให้ได้โดยเร็ว เราทำทุกอย่างอย่างเต็มที่และดีที่สุด
กทม.สั่งปิด 3 ตลาด
ร.ต.อ.พงศกร ขวัญเมือง โฆษกกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยระหว่างร่วมกับคณะผู้บริหาร กทม.ไปตรวจเยี่ยมหน่วยความร่วมมือบริการฉีดวัคซีนโควิด-19 ที่สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ซึ่งเป็น 1 ใน 25 หน่วยความร่วมมือบริการฉีดวัคซีนโควิด-19 กทม.-หอการค้าไทยว่า สำหรับคลัสเตอร์ของโรคโควิด-19 ที่บริเวณตลาดวงเวียนใหญ่นั้น กทม. โดยสำนักอนามัยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ทำการตรวจเชิงรุกบริเวณดังกล่าวจำนวน 3 ตลาด ได้แก่ ตลาดวงเวียนใหญ่, ตลาดเงินวิจิตร, ตลาดเสสะเวช รวมทั้งจุดผ่อนผันทำการค้าใกล้เคียง ตั้งแต่วันที่ 20 พฤษภาคม 2564 ขณะนี้ทำการตรวจคัดกรองแล้วเกือบ 100% พบจำนวนผู้ป่วย 14 ราย แต่ไม่ได้ตรวจ พบในคราวเดียว เป็นผู้ป่วยสะสม และสามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้แล้ว
“โดยได้สั่งปิดตลาดเงินวิจิตรและตลาดเสสะเวช วันที่ 4-6 มิถุนายน และปิดตลาดวงเวียนใหญ่ วันที่ 5-7 มิถุนายน 2564 เพื่อทำความสะอาดและสอบสวนโรค หากยังมีการแพร่ระบาดจะพิจารณาขยายเวลาปิดต่อไปส่วนการตรวจคัดกรองผู้ประกอบการและผู้ค้าย่านประตูน้ำ ที่ต้องเลื่อนวันตรวจคัดกรองนั้น เนื่องจากเกิดคลัสเตอร์ใหม่ที่แคมป์คนงานบริเวณใกล้เคียง จึงต้องปรับเปลี่ยนทีมที่จะทำการคัดกรองผู้ค้าประตูน้ำไป ตรวจคัดกรองแคมป์คนงานแทน โดยผู้ค้าย่านประตูน้ำสามารถเข้ารับการตรวจคัดกรองได้ตามสถานที่ที่สำนักงานเขตราชเทวีกำหนด” ร.ต.อ.พงศกรกล่าว
?นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรม กรมอนามัยได้ร่วมกับกระทรวงแรงงาน สภาอุตสาหกรรม และกระทรวงมหาดไทย ดูแลในเรื่องการป้องกันความเสี่ยงร่วม โดยสื่อสารให้สถานประกอบกิจการประเภทโรงงานปฏิบัติตามแนวทางทางการป้องกันโรค Good Factory practice (GFP) ด้วยการประเมินตนเองผ่านแพลตฟอร์ม Thai Stop COVID Plus ซึ่งมีมาตรการหลัก 14 ข้อ แบ่งเป็นด้านการป้องกันโรค 8 ข้อ ด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม 6 ข้อ และเมื่อประเมินแล้วจะส่งข้อมูลกลับมาบนฐานข้อมูลออนไลน์ จึงขอให้สถานประกอบกิจการประเภทโรงงานขนาดใหญ่ประเมินตนเองให้เสร็จภายในวันที่ 15 มิถุนายนนี้ แต่หากมีมาตรการที่ไม่ผ่าน ต้องดำเนินการปรับปรุงแก้ไขให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 30 มิถุนายน เพื่อที่สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด สำนักงานแรงงานจังหวัด และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด จะดำเนินการสุ่มตรวจโดยกรมอนามัยได้ทำหนังสือส่งถึงผู้ประกอบการให้เข้าไปประเมินตนเอง และขอให้ประเมินตามความเป็นจริง เพื่อเป็นประโยชน์ในการป้องกันโรคและแก้ไขจุดเสี่ยงต่อไป
?นายแพทย์สุวรรณชัยกล่าวว่า สำหรับการยกระดับคุมเข้มการระบาดของโรคโควิด-19 ในสถานประกอบกิจการประเภทโรงงาน กรมอนามัยได้กำหนด 4 มาตรการหลัก คือ 1. มาตรการด้านการป้องกันโรค มีการคัดกรองวัด อุณหภูมิ สวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัยตลอดเวลา จัดให้มีที่ล้างมือพร้อมสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ไว้บริการ ลดความแออัด การเว้นระยะห่างฯ 2.มาตรการด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม ทำความสะอาดพื้นผิวสัมผัส การจัดการขยะมูลฝอย จัดให้มีการระบายอากาศที่เหมาะสมฯ 3.มาตรการเสริมสำหรับโรงงานขนาดกลางและขนาดใหญ่ ต้องมีกลไกการจัดการและแผน เมื่อเกิดเหตุกรณีพบพนักงานติดเชื้อต้องมีการซักซ้อมแผน และ 4.มาตรการเมื่อพบผู้ติดเชื้อ ให้แจ้งเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อในพื้นที่ภายใน 3 ชั่วโมง เพื่อให้เจ้าหน้าที่สั่งการและคำแนะนำ หลังจากนั้นให้พิจารณาปิดพื้นที่หรือสถานที่และทำความสะอาดพื้นผิวทันที
ตรังพบ 3 คลัสเตอร์สำคัญ
ส่วนสถานการณ์ในพื้นที่ต่างจังหวัด นพ.พรณรงค์ ศรีม่วง นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสมุทรปราการ เปิดเผยว่า จ.สมุทรปราการพบผู้ติดเชื้อจำนวน 124 ราย เป็นผู้ป่วยในพื้นที่ 108 ราย, อำเภอเมืองสมุทรปราการ 64 ราย, อำเภอพระประแดง 15 ราย, อำเภอบางพลี 14 ราย, อำเภอบางเสาธง 15 ราย, โรงพยาบาลเอกชนรับมารักษาต่อในสมุทรปราการ 16 ราย เสียชีวิต 4 ราย รวมเสียชีวิตสะสม 94 ราย การตรวจคัดกรองเฝ้าระวังในคลินิก ARI และในชุมชน จำนวน 185,886 ราย พบเชื้อ 6,674 ราย
สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่รายงานว่า พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่เพิ่ม 1 ราย ทำให้ยอดรวมสะสมของการระบาดระลอกใหม่นี้เพิ่มเป็น 4,102 ราย โดยขณะนี้รักษาหายออกจากโรงพยาบาลแล้ว 4,003 ราย และมีผู้ป่วยรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลทั้งสิ้น 73 ราย ในจำนวนนี้อาการหนัก (สีแดง) 3 ราย, อาการค่อนข้างหนัก (สีส้ม) 9 ราย, อาการปานกลาง (สีเหลือง) 21 ราย และอาการน้อย (สีเขียว) 40 ราย โดยวันนี้ไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม ทำให้ยอดผู้เสียชีวิตสะสมยังคงอยู่ที่ 26 ราย
สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงรายรายงานว่า พบผู้ป่วยรายใหม่เพิ่ม 0 ราย ไม่พบผู้ติดเชื้อเป็นวันที่ 3 รวมยอดผู้ป่วยยืนยันสะสม 645 ราย (ตั้งแต่ 6 เม.ย.64) รวมมีผู้เสียชีวิตสะสม 9 ราย
นพ.ตุลกานต์ มักคุ้น โฆษก ศบค.ตรัง แถลงว่า พบการแพร่ระบาดของโรคติดใน 3 คลัสเตอร์สำคัญ ประกอบด้วย คลัสเตอร์โรงงานถุงมือยางศรีตรังโกล์ฟ 587 คน (เป็นพนักงาน 538 คน และผู้สัมผัสร่วมบ้าน 65 คน) และกำลังรอผลตรวจบางส่วน ส่วนคลัสเตอร์ที่ 2 คือ โรงงานไม้ยางพารานาเมืองเพชรพาราวู้ด ซึ่งมีพนักงาน 314 คน ได้ดำเนินการตรวจหาเชื้อ (Swap) ไปแล้วทั้งหมด โดยในการตรวจหาเชื้อโควิดในพนักงาน 160 คน พบเชื้อ 52 คน ส่วนที่เหลือ คาดว่าจะทราบผลในเร็วๆ นี้ และคลัสเตอร์ที่ 3 คือร้านกาแฟภาสินี ได้ทำการตรวจหาเชื้อในกลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยงสูงไป 348 คน แต่พบเชื้อเพียง 5 คนเท่านั้น
ส่วนวันนี้พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 58 ราย เป็นชาย 8 ราย หญิง 50 ราย เป็นชาวไทย 40 ราย ชาวเมียนมา 18 ราย โดยอยู่ในกลุ่มพนักงานโรงงานถุงมือยางศรีตรังโกล์ฟ 53 ราย สัมผัสร่วมบ้าน 3 ราย และกลุ่มพนักงานโรงงานไม้ ยางพารากันตังพาวาวู้ด 1 ราย สัมผัสร่วมบ้าน 1 ราย
สถานการณ์โควิด-19 จังหวัดพังงา ไม่พบผู้ป่วยรายใหม่ 7 วันต่อเนื่อง ผู้ป่วยระลอกใหม่สะสมตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน-6 มิถุนายน 2564 รวม 69 ราย
นายจารุวัฒน์ เกลี้ยงเกลา ผู้ว่าฯสงขลา เปิดเผยว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 91 ราย คลัสเตอร์โรงงานอาหาร อ.จะนะ แรงงานเมียนมา พบจากการลงคัดกรองครั้งที่ 2 ที่บ้านโคกเมา บ้านตีนนา และผู้สัมผัสผู้มีเชื้อโควิดในพื้นที่ ส่วนในเรือนจำไม่พบผู้ติดเชื้อ รวมยอดสะสม 2,013 คน เสียชีวิต 10 คน.