ข่าวภาคค่ำ – วันนี้คอลัมน์หมายเลข 7 ชวนไปตรวจสอบการใช้งบกว่าพันล้านบาทของ อบจ.สมุทรปราการ ใช้โกงกางเทียมแก้ปัญหากัดเซาะชายฝั่ง จะประเมินความคุ้มค่ากันอย่างไร ติดตามจากคุณสมจิตต์ นวเครือสุนทร
เป็นความจริงที่ว่าการรักษาทรัพยากรธรรมชาติ ไม่สามารถเอาเม็ดเงินมาวัดความคุ้มค่าได้ แต่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เอง ก็ยังไม่กล้าผลักดันให้ทุกจังหวัดชายฝั่งทะเล ใช้นวัตกรรมโกงกางเทียม ตามที่บริษัทผู้ผลิตเสนอมา เพื่อช่วยดันราคายางพารา เพราะเห็นว่าราคา 100 ล้านบาทต่อกิโลเมตร ยังสูงเกินไป แม้แต่ นายอุทัย สอนหลักทรัพย์ นายกสมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย ก็ยังยอมใส่เกียร์ถอย จากที่เคยผลักดันเต็มสูบในปี 2562 ด้วยเหตุผลเดียวกันคือราคาสูงเกินไป
แต่ อบจ.สมุทรปราการ ไม่หวั่นราคาแพง ทุ่มเงินทำโครงการนวัตกรรมโกงกางเทียม โดยใช้งบประมาณปี 2563 กว่า 400 ล้าน และงบประมาณปี 2564 อีกกว่า 600 ล้าน รวมสองเฟส เป็นเงินกว่า 1,000 ล้านบาท หัวเรือใหญ่ที่ผลักดันโครงการนี้คือ นายชนม์สวัสดิ์ อัศวเหม ประธานสภาหอการค้าสมุทรปราการ เสนอให้ อบจ.สมุทรปราการ ควักกระเป๋าจัดงบก้อนโตดันโครงการนี้ แบบไม่เกี่ยงราคา หวังแก้ปัญหากัดเซาะชายฝั่ง ช่วยดินงอกเพิ่ม เริ่มดำเนินการไปแล้วที่บางปูใหม่ โดยพ่อเมืองสมุทรปราการ ซึ่งต้องเป็นผู้ลงนามอนุมัติโครงการ เนื่องจากมีมูลค่าเกิน 200 ล้านบาท
ยืนยันว่าทุกอย่างถูกต้องตามระเบียบและขั้นตอน แต่ยอมรับยังไม่มีการประเมินความคุ้มค่า
สำหรับการจัดซื้อจัดจ้างกรณีเป็นนวัตกรรมใหม่ ที่มีผู้ประกอบการเพียงรายเดียว ตามพระราชบัญญัติจัดซื้อจัดจ้าง จะได้รับการยกเว้น ตามมาตรา 56 (2) ไม่ต้องประมูล โดยให้ใช้วิธีเฉพาะเจาะจงแทน ซึ่งในส่วนของโกงกางเทียม มีเพียงบริษัท อาร์โต้ เอ็นจิเนียร์ เพียงรายเดียวที่ขึ้นทะเบียนนวัตกรรมนี้ ไว้ตั้งแต่มีนาคม 2560 ถึง 31 มีนาคม 2564 สำนักงบประมาณกำหนดราคากลางไว้ที่ต้นละ 14,750 บาท แต่ในขณะนี้บัญชีดังกล่าวถูกขีดฆ่าออกจากระบบบัญชีนวัตกรรมแล้ว เนื่องจากหมดอายุ อยู่ในระหว่างการต่อบัญชี อย่างไรก็ตาม ไม่มีผลต่อโครงการที่สมุทรปราการ เพราะอนุมัติไปก่อนหมดอายุในวันที่ 31 มีนาคม โดยมีการเผยแพร่ประกาศแผนจัดซื้อจัดจ้างในวันที่ 23 มีนาคมที่ผ่านมา
ในมุมมองของผู้ตรวจสอบ ก็มองว่า นวัตกรรมใหม่เป็นเรื่องดี แต่มีข้อจำกัดที่อาจนำไปสู่การแสวงหาประโยชน์ได้ จากกรณีมักมีผู้ผลิตเพียงรายเดียว และราคาค่อนข้างสูง
แม้โกงกางเทียม ถือเป็นนวัตกรรมสกัดการกัดเซาะชายฝั่งที่น่าสนใจ แต่ด้วยความที่ราคาสูง กิโลเมรตรละร้อยล้านบาท สูงกว่าการปักไม้ไผ่ กิโลเมตรละ 4 ล้านบาท ถึง 25 เท่า ย่อมทำให้เกิดคำถามเกี่ยวกับผลลัพธ์ที่ได้ว่าจะทำให้เกิดดินงอกได้เดือนละ 10 เซ็นติเมตร จริงหรือไม่ การตรวจสอบและประเมินความคุ้มค่าต่อจากนี้ เป็นเรื่องที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องติดตามระยะยาว เพื่อให้คำตอบกับประชาชน เพราะทุกบาท ทุกสตางค์ ที่ใช้ เป็นเงินของแผ่นดิน