ภายในปี พ.ศ. 2573 หรือ ค.ศ. 2030 มากกว่า 96% ของพื้นที่กรุงเทพฯ อาจถูกน้ำท่วมหากเกิดอุทกภัยครั้งใหญ่กว่าปกติในรอบ 10 ปี…
ใจความหลักจากรายงานโดยกรีนพีซที่ตีพิมพ์เมื่อกลางปีที่ผ่านมาฟังดูน่ากังวลยิ่งขึ้นหลังเมื่อเช้านี้ (8 พ.ย.) เกิดภาวะน้ำทะเลหนุนสูงสร้างความเดือดร้อนให้ประชาชนจำนวนมากที่อาศัยอยู่ริมน้ำในพื้นที่ กรุงเทพฯ จ.สมุทรปราการ และ จ.นนทุบรี รวมถึงถนนหลายสายที่น้ำท่วมสูงจนรถเล็กไม่สามารถสัญจรไปมาได้
ขณะที่การประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมัยที่ 26 (COP26) ที่เมืองกลาสโกว์ยังดำเนินไป สิ่งที่เกิดขึ้นในกรุงเทพฯ และบางจังหวัดปริมณฑล ดูจะเป็นอีกสัญญาณเตือนหนึ่งว่าโลกจะได้รับผลกระทบจากสภาพภูมิอากาศโลกที่แปรปรวนมากขึ้นเรื่อย ๆ หากมนุษย์ไม่สามารถจำกัดอุณหภูมิเฉลี่ยโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียสได้
บีบีซีไทยสำรวจประกาศเตือนภัยที่เผยแพร่ในเฟซบุ๊กของกรุงเทพมหานคร (กทม.) กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ตั้งแต่เมื่อคืนนี้จนถึงเช้าวันนี้ ไม่พบว่ามีการแจ้งเตือนภัยน้ำท่วมจากน้ำทะเลหนุนสูง มีเพียงการให้ข้อมูลว่าระดับน้ำบริเวณแม่น้ำเจ้าพระยาในวันนี้ คาดการณ์โดยกรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ ว่าน้ำขึ้นสูงสุดเวลา 09.55 น. สูงกว่าระดับน้ำทะเลปานกลาง 2.16 ม.
น.ส. ธนวรรณ รอดกลับ ประชาชนใน อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ เล่าเหตุการณ์ให้บีบีซีไทยว่า ระดับน้ำจากคลองลัดหลวง ซึ่งเชื่อมต่อกับแม่น้ำเจ้าพระยาสูงขึ้นเรื่อย ๆ ตั้งแต่เช้า จนกระทั่งทะลักล้นประตูน้ำไหลเข้าท่วมชุมชนริมคลอง รวมถึงบ้านของเธอ ซึ่งนับเป็นครั้งแรกตั้งแต่ปี 2554 ที่น้ำทะเลหนุนสูงจนท่วมบ้าน
สำหรับพื้นที่ที่ประสบภัยน้ำท่วมจากน้ำทะเลหนุนสูงวันนี้ ได้แก่ กรุงเทพฯ (เขตยานนาวา เขตราษฎร์บูรณะ เขตบางพลัด เขตสัมพันธวงศ์) อ.เมืองนนทบุรี จ.นนทบุรี และ จ.สมุทรปราการ (อ.พระประแดง และ อ.เมืองสมุทรปราการ)
ส่วนถนนที่มีรายงานน้ำท่วมสูงจนกระทบการจราจรอย่างหนัก เช่น ถ.พระราม 3 ถ.บางนา-ตราด ถ.สุขุมวิท (ช่วงสะพานข้ามคลองมหาวงษ์-หน้าโรงเรียนนายเรือ) ถ.รัตนาธิเบศร์ (จุดกลับรถใต้สะพานพระนั่งเกล้า) น. ถ.ราษฎร์บูรณะ (ช่วงสะพานข้ามคลองดาวคะนอง) และบริเวณสะพานกรุงธน เป็นต้น
คำเตือน
ย้อนไปเมื่อเดือน มิ.ย. กรีนพีซตีพิมพ์รายงานความเสียหายทางเศรษฐกิจที่คาดการณ์จากการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลแบบสภาวะสุดขีดใน 7 เมืองของเอเชียภายในปี 2573 หรือ ค.ศ. 2030 (The Projected Economic Impact of Extreme Sea-Level Rise in Seven Asian Cities in 2030) ซึ่งมีกรุงเทพฯ เป็นหนึ่งในนั้น
กรีนพีซระบุว่า เมืองชายฝั่งทั่วเอเชียกำลังเผชิญกับความเสี่ยงจากน้ำท่วมที่มากขึ้นเนื่องจากการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลและพายุโซนร้อนที่เข้มข้นมากขึ้น โดยอ้างข้อมูลจาก คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ(IPCC) ที่เตือนว่า การเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลเฉลี่ยทั่วโลกอยู่ระหว่าง 0.43-0.84 เมตรภายในปี พ.ศ.2643
กรีนพีซยังระบุอีกว่า ตลอดศตวรรษที่ 21 พายุมีความเร็วลมรุนแรงซึ่งสร้างความเสียหายมากขึ้น คลื่นพายุซัดฝั่งที่สูงขึ้น และปริมาณน้ำฝนที่มีสภาวะสุดขีดมากกว่าในอดีต
ใจความสำคัญของรายงานชุดนี้เกี่ยวกับกรุงเทพฯ คือ “มากกว่า 96% ของกรุงเทพฯ เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำที่เสี่ยงน้ำท่วมหากระดับน้ำทะเลเพิ่มขึ้น เมื่อพิจารณาถึงอุทกภัยคาบอุบัติซ้ำ 10 ปี ที่จะเกิดขึ้นภายในปี พ.ศ. 2573”
“อุทกภัยคาบอุบัติซ้ำ 10 ปี” หรือที่ในรายงานภาษาอังกฤษใช้คำว่า “ten-year flood” หมายถึงเหตุการณ์น้ำท่วมชายฝั่งที่เกิดจากคลื่นพายุซัดฝั่งและระดับน้ำขึ้นสูงสุด โดยมีโอกาส 10% ต่อปีที่จะเกิดน้ำท่วมสูงเกินระดับน้ำทะเล
นอกจากนี้ กรีนพีซบอกว่า หากเกิดปรากฏการณ์นั้นขึ้น สัปปายะสภาสถาน รัฐสภาแห่งใหม่ของไทยเสี่ยงต่อการถูกน้ำท่วม กรุงเทพฯ จะได้รับความเสียหายทางเศรษฐกิจคิดเป็นมูลค่ารวม 512,280 ล้านเหรียญสหรัฐ และประชากร 10.45 ล้านคนในนครหลวงอาจได้รับผลกระทบจากการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลและน้ำท่วมชายฝั่งในปี พ.ศ.2573 โดยความเสียหายทางเศรษฐกิจคิดเป็น 96% ของจีดีพี หรือตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมของกรุงเทพฯ (มูลค่าดังกล่าวคิดเป็นดอลลาร์สหรัฐโดยสะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงของระดับราคาสินค้า อัตราเงินเฟ้อคิดตามหลักความเท่าเทียมกันของอำนาจซื้อ หรือ purchasing power parity – PPP)
อย่างไรก็ดี นี่ไม่ใช่เรื่องใหม่ ย้อนไปหลายปีก่อนหน้านี้ ธนาคารโลกเคยออกรายงานระบุว่า กรุงเทพฯ จาการ์ตา และโฮจิมินห์ซิตี้ เป็น “จุดเสี่ยง” ที่จะได้รับผลกระทบจากระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น พายุเขตร้อนที่รุนแรง และฝนตกหนัก เนื่องจากภาวะโลกร้อน โดยยืนยันว่าปรากฏการณ์เหล่านี้ไม่ใช่ความเสี่ยงที่ไกลตัวอีกต่อไป แต่เป็นสิ่งที่จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอนในอนาคตอันใกล้
เมื่อปี 2561 ธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการประจำประเทศไทยของกรีนพีซ ให้สัมภาษณ์บีบีซีไทยว่า “หากเราไม่ทำอะไรเลย กรุงเทพฯ จะจมอยู่ใต้น้ำในเวลา 10-15 ปี เพราะการใช้ที่ดินและสูบน้ำบาดาล”
รายงานของธนาคารโลกชิ้นดังกล่าวบอกว่า กรุงเทพฯ มีโอกาสจะจมอยู่ใต้น้ำเป็นอาณาบริเวณกว้าง ภายในปี ค.ศ. 2030 โดยความเสี่ยงนี้ เกิดจากภาวะโลกร้อนที่มีแนวโน้มรุนแรงกว่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้
นอกจากนี้ ในตอนนั้น ผู้เชี่ยวชาญมองว่าที่ทางการเร่งดำเนินการเตรียมรับมือหลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นขุดคลอง สร้างสถานีสูบน้ำ และอุโมงค์ใต้น้ำ เพื่อระบายน้ำออกหากเกิดวิกฤต เป็นเพียงการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น