สธ. เผยไทม์ไลน์ผู้ป่วย จ.มหาสารคาม ติดตามผู้สัมผัสเสี่ยง 110 ราย พบผลบวก 5 ราย ได้แก่ ภรรยา และเพื่อนอีก 4 คน ซึ่งกินเลี้ยงด้วยกัน หลังจากนั้น วันที่ 29 ม.ค. 64 พบผลบวกอีกจำนวนหนึ่งรอยืนยัน เร่งค้นหาเชิงรุกในชุมชน
วันนี้ (30 มกราคม 2564) นพ.เฉวตสรร นามวาท รักษาราชการแทน ผอ.กองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค แถลงสถานการณ์ และความคืบหน้าผู้ติดเชื้อโควิด 19 ในประเทศไทย ระบุว่า ไทยผู้ป่วยโควิด-19รายใหม่ จำนวน 930 ราย เป็นตัวเลข 3 หลักตลอดในสัปดาห์นี้ จากการค้นหาเชิงรุกที่ดำเนินการไปอย่างเข้มข้น เป็นที่มาของผู้ป่วยรายใหม่ 700 – 900 รายต่อวัน สำหรับสถานการณ์ทั่วโลกเพิ่มขึ้น 1 ล้านรายภายใน 2 วัน สหรัฐฯ ยังคงเป็นอันดับหนึ่ง ส่วนสถานการณ์ในเอเชีย อินโดนีเชีย มีการติดเชื้อเกินหมื่นราย และมาเลเซีย ผู้ติดเชื้อยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
สำหรับผู้ป่วยรายใหม่ 930 ราย ติดเชื้อในประเทศ 916 ราย (จากระบบบริการ 27 ราย และค้นหาเชิงรุก 889 ราย) จากต่างประเทศ 14 ราย ผู้ป่วยยืนยันสะสม 17,953 ราย หายป่วยแล้ว 11,505 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 1 ราย รวมเสียชีวิตสะสม 77 ราย สำหรับ การระบาดระลอกใหม่ ตั้งแต่วันที่ 15 ธ.ค. 63 – 30 ม.ค. 64 พบผู้ติดเชื้อรวม 13,716 ราย หายป่วยแล้ว 7,565 ราย เสียชีวิต 17 ราย
รายละเอียดผู้ป่วยรายใหม่ 930 ราย แบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ ติดเชื้อในประเทศ (จากระบบการเฝ้าระวัง และ ระบบบริการ) 27 ราย ได้แก่ สมุทรสาคร 18 ราย กทม. 3 ราย นนทบุรี 2 ราย มหาสารคาม 2 ราย ตาก 1 ราย สมุทรปราการ 1 ราย ติดเชื้อในประเทศ (จากการคัดกรองเชิงรุกในชุมชน) 889 ราย ได้แก่ สมุทรสาคร 865 ราย สมุทรปราการ 18 ราย มหาสารคาม 4 ราย กทม. 1 ราย ระยอง 1 ราย และ ติดเชื้อจากต่างประเทศ 14 ราย ได้แก่ อิหร่าน 1 ราย เกาหลีใต้ 1 ราย สหรัฐอเมริกา 2 ราย ไนจีเรีย 2 ราย รัสเซีย 1 ราย สหราชอาณาจักร 2 ราย เยอรมนี 2 ราย มาเลเซีย 3 ราย
“จังหวัดที่พบผู้ติดเชื้อในประเทศ การควบคุมการระบาด ได้บีบพื้นที่ให้แคบลง ทำให้ในสัปดาห์ล่าสุด (24 – 30 มกราคม 2564) เหลือจังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อ 17 จังหวัด”
- ไทม์ไลน์ผู้ป่วย จ.มหาสารคาม
สำหรับ กรณี จ.มหาสารคาม 6 ราย ในระลอกใหม่ พบว่า เป็นชายอายุ 46 ปี 3 ม.ค. เดินทางจาก กทม. กลับมา มหาสารคาม , 10 ม.ค. 64 เริ่มมีอาการไข้ 18 ม.ค. 64 ปวดเมื่อยตามตัว 23 ม.ค. 64 มีอาการไข้ ปวดเมื่อย พบแพทย์ที่ศูนย์แพทย์ 27 ม.ค. 64 ไป รพ.มหาสารคาม ผลออกมาติดเชื้อ 28 ม.ค. 64 ติดตามผู้สัมผัส 110 ราย พบผลบวก 5 ราย ได้แก่ ภรรยา และเพื่อนอีก 4 คน ซึ่งกินเลี้ยงด้วยกัน 29 ม.ค. 64 พบผลบวกอีกจำนวนหนึ่งรอยืนยัน
“ขณะนี้ มีการค้นหาในชุมชน ต้องพยายามขีดวง และค้นหาผู้เกี่ยวข้องทุกจุด ดังนั้น งานเลี้ยงช่วงระบาด เป็นไปได้ขอให้งด เวลารับประทานอาหาร การเปิดหน้ากาก ทำให้เชื้อฟุ้งกระจายจากการหัวเราะ พูดคุย เกิดความเสี่ยง”
- กลุ่มก้อนผู้ติดเชื้อบริษัทแห่งหนึ่ง
สำหรับ กลุ่มก้อนผู้ป่วยเชื่อมโยงบริษัทแห่งหนึ่ง ซึ่งเป็น เพศหญิง อายุ 39 ปี พนักงานบริษัท ป่วยเมื่อวันที่ 23 ม.ค. 64 จากการสอบสวนผู้สัมผัสเสี่ยง พบมารดา 63 ปี อาชีพแม่บ้าน ติดเชื้อ แต่ไม่มีอาการ โรคประจำตัวเบาหวาน และ บุตรชาย อายุ 12 ปี นักเรียน ไม่มีอาการ และ เพื่อนในที่ทำงาน อายุ 39 ปี เพศหญิง ไม่มีอาการ
อย่างไรก็ตาม จากการดูผู้เกี่ยวข้องในไทม์ไลน์ พบว่า มีประวัติการพูดคุยกับผู้ป่วยชาย อายุ 34 ปี ขายของออนไลน์ ซึ่ง เริ่มป่วยวันที่ 14 ม.ค. 64 และพบว่า เพื่อนของชายคนดังกล่าว เป็นเพศชาย อายุ 18 ปี อาชีพขายของออนไลน์ เริ่มป่วย 18 ม.ค. 64
“ดังนั้น เวลาสอบสวนโรค คนที่เจอคนแรก อาจจะไม่ใช่คนที่ป่วยก่อนต้องมีการสอบสวนโรคเพื่อให้ได้ข้อมูล ทั้งนี้ คนที่ออกไปทำงาน หากกลับมาบ้าน มีโอกาสแพร่เชื้อไปให้คนในบ้าน หากมีผู้สูงอายุอยู่ในบ้าน ให้รีบอาบน้ำ ชำระร่างกาย สวมหน้ากาก รักษาระยะห่าง จะช่วยป้องกันสมาชิกในบ้านได้”
ภาพรวมการใช้งาน “ไทยชนะ” ข้อมูล ณ วันที่ 29 ม.ค. 64 มีผู้ใช้งาน 57,243,156 คน ขณะที่ “หมอชนะ” มียอดดาวน์โหลด 8.35 ล้านคน ยอดการส่งแจ้งเตือนแอปฯ หมอชนะ ณ วันที่ 30 มกราคม 2564 สะสม 11,028 ราย
สำหรับ กรณีการเตรียมผ่อนคลายมาตรการวันที่ 1 กพ. นี้ นพ.เฉวตสรร กล่าวว่า การผ่อนคลายมาตรการ ต้องร่วมมือร่วมใจทั้งผู้ประกอบการ เจ้าของร้านค้า เจ้าของบริการ มีมาตรการ ลดความเสี่ยงทั้งในแง่การรักษาระยะห่าง จำนวนลูกค้าไม่หนาแน่น จัดอุปกรณ์ เจลล้างมือ ส่วนประชาชน ยังคงต้องรักษามาตรการที่เข้มข้น เพราะเมื่อโรคเป็นโรคที่แพร่ได้โดยไม่มีอาการ จึงต้องป้องกันตัวเองให้ดีที่สุด ไม่เอาตัวเองไปอยู่ในพื้นที่เสี่ยง ขอให้แสกนแอปฯ ไทยชนะทุกครั้ง
“ขอให้ร่วมมือกันทุกคน ทั้งการดูแลความสะอาด รักษาระยะห่าง ต้องทำต่อไป แม้จะเริ่มมีวัคซีนมา เพราะต้องเรียนว่า วัคซีนจะเป็นการป้องกันความรุนแรงของโรค ลดการตาย แต่ในเรื่องของการป้องกันการติดเชื้อ การแพร่กระจาย ขณะเดียวกัน ยังคงเป็นการเริ่มฉีดในภาวะฉุกเฉิน จึงต้องมีการติดตามข้อมูลต่อไป ดังนั้น จนกว่าจะมั่นใจว่าหยุดการระบาดได้ การใช้ชีวิต New Normal สำคัญมาก” นพ.เฉวตสรร กล่าว