14 ธ.ค. 2564 | 20:14:17
ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการประชุมการเตรียมความพร้อมด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีหมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็ก ร่วมกับ นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย และ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค โดยมีนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดและผู้อำนวยการโรงพยาบาลทั่วประเทศเข้าร่วมผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์
ดร.สาธิตกล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับปัญหาฝุ่น PM 2.5 จากการติดตามสถานการณ์พบว่า แนวโน้มค่าฝุ่น PM 2.5 เริ่มสูงขึ้นตั้งแต่ช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมา ขณะนี้ค่าฝุ่นเข้าใกล้ค่ามาตรฐาน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ที่จะเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพแล้ว แต่บางช่วงเวลาบางพื้นที่เริ่มสูงเกินค่ามาตรฐาน ขณะนี้พบ 10 จังหวัด ได้แก่ กทม. สมุทรสาคร สมุทรปราการ นครปฐม สมุทรสงคราม สระบุรี สุพรรณบุรี พิษณุโลก พิจิตร และนครพนม สูงสุดอยู่ที่ ต.ลาดใหญ่ อ.เมือง จ.สมุทรสงคราม เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2564 คือ 69 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร
ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าช่วงปลายปี 2564 ถึงต้นปี 2565 สถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 อาจจะมีความรุนแรงมากกว่าปีที่แล้ว เนื่องจากความกดอากาศสูง ทำให้สภาพอากาศนิ่งจนเกิดการสะสมของฝุ่นได้ง่าย ร่วมกับกิจกรรมต่างๆ ที่ก่อให้เกิดฝุ่น ทั้งการเดินทางและขนส่ง โรงงานอุตสาหกรรม การจัดการทางการเกษตร รวมถึงไฟป่า สำหรับพื้นที่ กทม.คาดว่าค่าฝุ่น PM 2.5 จะเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม เป็นต้นไป โดยเฉพาะพื้นที่กรุงเทพกลาง กรุงเทพตะวันออก และกรุงธนเหนือ ซึ่งมีการจราจรหนาแน่น
จึงได้มีข้อสั่งการถึงผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดทุกจังหวัด ขอให้เตรียมการเฝ้าระวังดูแลและป้องกันผลกระทบสุขภาพประชาชนจากฝุ่น PM2.5 ดังนี้
1.เฝ้าระวังและแจ้งเตือนสถานการณ์ สื่อสารข้อมูลผลกระทบ การปฏิบัติตน การดูแลสุขภาพในรูปแบบต่าง ๆ ตามความเหมาะสมกับบริบทพื้นที่ เพื่อยกระดับความรอบรู้สุขภาพ
2.เตรียมความพร้อมในการดูแลและป้องกันความเสี่ยงต่อสุขภาพ โดยสำรวจและจัดทำทะเบียนกลุ่มเสี่ยงจาก PM 2.5 ในพื้นที่ตนเอง ให้ทีม 3 หมอติดตามดูแลกลุ่มเสี่ยงเป็นพิเศษ คือ ผู้ป่วยโรคหอบหืด ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง และเด็กเล็ก เตรียมพร้อมจัดบริการสาธารณสุขโดยให้โรงพยาบาลเปิดคลินิกมลพิษ ให้คำปรึกษาและการรักษา พร้อมสนับสนุนอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคลซึ่งขณะนี้มีการเปิดคลินิกมลพิษออนไลน์แล้ว 49 แห่งทั่วประเทศ และจัดเตรียมห้องปลอดฝุ่นในสถานบริการสาธารณสุข สถานที่มีกลุ่มเสี่ยง คือ ศูนย์เด็กเล็ก สถานที่ดูแลผู้สุงอายุ หรือบ้านเรือนประชาชน
3.เตรียมความพร้อมเปิดศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุขทุกระดับ โดยเปิดระดับจังหวัดเมื่อค่าฝุ่นสูงเกิน 75 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ต่อเนื่อง 3 วัน เปิดระดับเขตสุขภาพ เมื่อเปิดศูนย์ระดับจังหวัดมากกว่า 2 จังหวัด เปิดระดับกรมเมื่อเปิดระดับเขตสุขภาพมากกว่า 2 เขตสุขภาพ และเปิดระดับกระทรวงเมื่อเปิดมากกว่า 3 เขตสุขภาพ โดยให้มีการรายงานสถานการณ์ทุกวัน 4.เฝ้าระวังผลกระทบต่อสุขภาพ โดยเฉพาะ 4 กลุ่มโรค ได้แก่ โรคระบบทางเดินหายใจ ระบบหัวใจและหลอดเลือด ระบบผิวหนัง และระบบตา และรายงานผู้ป่วยที่มารับการรักษาในสถานพยาบาลอย่างต่อเนื่อง เมื่อมีเหตุการณ์ผู้ป่วยโรคหัวใจและโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังเข้ารับการรักษาในห้องฉุกเฉินมากกว่าปกติให้รายงานทันที รวมถึงเฝ้าระวังอาการและพฤติกรรมในการป้องกันตนเองจากการสัมผัสฝุ่นผ่าน Line Official Account “ONE4U” หรือเว็บแอปพลิเคชัน 4health เนื่องจากมีบางส่วนที่ได้รับผลกระทบทางสุขภาพ แต่ไม่ได้ไปโรงพยาบาล ช่วยให้จังหวัดมีข้อมูลในการวางแผนแก้ไขปัญหาในพื้นที่
5.รายงานสถานการณ์ทุกสัปดาห์ ตลอดช่วงเวลาการเฝ้าระวัง ในกรณีสถานการณ์วิกฤต (สีแดง) ให้รายงานไปยังเขตสุขภาพและกองสาธารณสุขฉุกเฉิน
6.จัดทำหน่วยงานสาธารณสุขให้เป็นต้นแบบองค์กรลดฝุ่น โดยจัดกิจกรรมองค์กรปลอดฝุ่นในสำนักงานและสถานบริการสาธารณสุขในจังหวัด
7.สร้างความรู้ ความเข้าใจแก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการใช้ พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ. 2535 เป็นเครื่องมือสนับสนุนการลดฝุ่นจากแหล่งกำเนิดในพื้นที่ และจัดการเหตุรำคาญจากฝุ่นละออง
8.ให้บูรณาการการดำเนินงานกับหน่วยงานในพื้นที่อย่างเข้มข้น เพื่อดูแสุขภาพประชาชน อย่างมีประสิทธิภาพ และเร่งสื่อสารความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชน ทั้งการป้องกันสุขภาพ และการมีส่วนร่วมในการลดฝุ่นละอองต่อไป
9.ให้สำนักงานสาธารณสุขทุกจังหวัดสื่อสารผ่านโซเชียลมีเดียเรื่องการเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ฝุ่นที่คาดว่าจะรุนแรงมากขึ้นโดยขอให้ทุกจังหวัดดำเนินการทันที
Share this: