



อาจกล่าวได้ว่าที่นี่คือปูชนียสถานที่สำคัญที่สุด เมื่อพระสมุทรเจดีย์ คือ ตราประจำจังหวัดสมุทรปราการซึ่งชาวเมืองเรียกขานในอีกชื่อหนึ่งว่า “พระเจดีย์กลางน้ำ” ตามสภาพเดิมที่ตั้งอยู่บนเกาะมีน้ำล้อมรอบ แต่ภายหลังแม่น้ำตื้นเขินขึ้นจนเป็นแผ่นดินเชื่อมติดกัน และยังเป็นพระเจดีย์สำคัญที่กว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จ ใช้เวลาถึง 3 รัชกาล ในอดีตพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 โปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าลูกยาเธอกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์กับเจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ บุนนาค) เป็นแม่กองสร้างป้อมปราการ 6 ป้อม เมื่อ 3 ปีผ่านไปจึงแล้วเสร็จ จึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระเจดีย์ที่เกาะหาดทรายท้ายป้อมผีเสื้อสมุทรเพื่อเป็นอนุสรณ์และเฉลิมพระนามว่า “พระสมุทรเจดีย์” ทว่าเสด็จสวรรคตเสียก่อนจะแล้วเสร็จ ครั้นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 จึงโปรดเกล้าฯ ให้ดำเนินการก่อสร้างต่อจนเสร็จสิ้นเป็นเจดีย์รูปสี่เหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสองสูง 20 เมตรเมื่อ พ.ศ. 2371 ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯ ให้ช่างถ่ายแบบพระเจดีย์ทรงกลมที่กรุงศรีอยุธยามาสวมทับพระเจดีย์เดิมจนสูงถึง 39.75 เมตร ทั้งยังอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ 12 องค์จากพระบรมมหาราชวังมาบรรจุไว้แทนของเดิมที่มีผู้ลักลอบไปรวมทั้งโปรดเกล้าฯ ให้สร้างสถานที่ขึ้นอีกหลายแห่ง อาทิ ศาลาเก๋งจีนหอเทียน หอระฆังตึกฝรั่งตกแต่งจิตรกรรมฝาผนังความเป็นมาเมืองสมุทรปราการและพระสมุทรเจดีย์ รวมทั้งพระวิหารประดิษฐานพระพุทธรูปปางห้ามสมุทรฯลฯ สิ้นพระราชทรัพย์ในการก่อสร้าง 588 ชั่งหรือ 47,240 บาท ในเวลานั้นจนกลายเป็นศูนย์รวมสถาปัตยกรรมไทยจีนและตะวันตกที่สำคัญ กรมศิลปากรจึงประกาศขึ้นทะเบียนพระสมุทรเจดีย์เป็นโบราณสถานของชาติใน พ.ศ. 2536 ชาวเมืองสมุทรปราการจะเฉลิมฉลองปูชนียสถานคู่บ้านคู่เมืองแห่งนี้ในวันแรม 5 ค่ำ เดือน 11 ด้วยงานนมัสการพระสมุทรเจดีย์เป็นประจำทุกปี มีการเชิญผ้าแดงผืนใหญ่ตั้งบนบุษบก แห่รอบเมืองและล่องแม่น้ำเจ้าพระยาไปจนถึงอำเภอพระประแดง แล้วแห่กลับมาทำพิธีทักษิณาวัตร จากนั้นจึงนำผ้าห่มองค์พระสมุทรเจดีย์ รวมทั้งประชาชนจะได้สักการะพระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ 2 ซึ่งประดิษฐานอยู่ด้านในด้วย เปิดให้เข้าชมได้ทุกวันตั้งแต่เวลา 07.00-16.00 น. สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ +66 2425 8898